ลงทุน กองทุนรวม ต้องดูอะไรบ้าง ? สรุปจบในโพสต์เดียว

ลงทุน กองทุนรวม ต้องดูอะไรบ้าง ? สรุปจบในโพสต์เดียว

17 เม.ย. 2024
กองทุนรวม เป็นหนึ่งในเครื่องมือการลงทุน ที่สามารถช่วยให้คนทั่วไปมีอิสรภาพทางการเงินได้ อีกทั้งยังช่วยลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
โดยการลงทุนในกองทุนรวม ต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจในการลงทุนไม่น้อย
เพราะหากเราเลือกกองทุนไม่ดีแล้ว แทนที่เรากำลังจะทำให้เงินงอกเงย เราอาจจะต้องเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์
และถ้าคุณอยากรู้ว่า ถ้าจะเริ่มลงทุนในกองทุนรวม ต้องดูอะไรบ้าง ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
1. ประเภทของกองทุน
กองทุนบนโลกนี้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบหลัก ๆ ตามวิธีการบริหารกองทุน คือ 
- กองทุนอิงดัชนี (Passive Fund)
- กองทุนเชิงรุก (Active Fund)
กองทุนอิงดัชนี จะจัดน้ำหนักการลงทุนในพอร์ต ให้ใกล้เคียงกับดัชนีที่กองทุนตั้งใจจะอ้างอิงมากที่สุด และมีเป้าหมายในการสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงมากที่สุด เช่นกัน
ส่วนกองทุนเชิงรุก เป็นกองทุนที่มีเป้าหมายในการเอาชนะตลาด หรือดัชนีอ้างอิงของตัวเอง โดยอาศัยความสามารถในการเลือกหุ้นรายตัวของผู้จัดการกองทุนเอง
นอกจากนี้ยังมีการจัดประเภทกองทุนตามสินทรัพย์ที่ลงทุนด้วย เช่น กองทุนหุ้น, กองทุนตราสารหนี้, กองทุนสินค้าโภคภัณฑ์ หรือกองทุนอสังหาริมทรัพย์
ซึ่งกองทุนที่ลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ ก็จะมีความเสี่ยงที่ไม่เท่ากัน อย่างกองทุนสินค้าโภคภัณฑ์ จะมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงกว่ากองทุนอื่น ๆ
ขณะที่กองทุนตราสารหนี้ จัดเป็นกองทุนประเภทความเสี่ยงต่ำ
2. ค่าธรรมเนียมกองทุน
ทุกครั้งที่เราซื้อขายหุ้น เราต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้โบรกเกอร์ เช่นเดียวกันกับการซื้อขายกองทุนรวม เราก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเหมือนกัน
- ค่าธรรมเนียมขาย (Front-end Fee) คือค่าธรรมเนียมที่เก็บตอนเราซื้อหน่วยลงทุน
- ค่าธรรมเนียมรับซื้อคืน (Back-end Fee) คือค่าธรรมเนียมที่เก็บตอนเราขายหน่วยลงทุน
นอกจากนี้ยังมี
- ค่าธรรมเนียมในการบริหารด้วย ซึ่งค่าธรรมเนียมส่วนนี้ ผู้ถือหน่วยไม่ต้องออกเงินจ่ายโดยตรง แต่จะถูกทยอยหักออกจากราคา NAV ของหน่วยลงทุนทุกวัน
แต่ละกองทุนจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเหล่านี้ไม่เท่ากัน เราสามารถตรวจสอบค่าธรรมเนียมเหล่านี้ ได้จากหนังสือชี้ชวนสรุปสาระสำคัญของกองทุน หรือ Factsheet กองทุน
และโดยปกติแล้วกองทุนอิงดัชนี (Passive Fund) จะมีค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการที่ต่ำกว่ากองทุนเชิงรุก (Active Fund)
3. Tracking Error
Tracking Error คือ ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนของกองทุน กับดัชนีอ้างอิงของกองทุน
ตัวเลข Tracking Error เป็นตัวเลขสำคัญสำหรับใช้เลือกลงทุนในกองทุนอิงดัชนี
ยิ่งตัวเลข Tracking Error ต่ำ ก็ยิ่งแปลว่ากองทุนอิงดัชนี สามารถสร้างผลตอบแทนได้ใกล้เคียงกับตลาดหุ้นที่กองทุนลงทุนอยู่
4. นโยบาย และกลยุทธ์การลงทุน
กองทุนเชิงรุก หลาย ๆ กอง จะมีกลยุทธ์การลงทุนที่ไม่เหมือนกัน เช่น บางกองทุนเน้นลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก บางกองทุนเน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่
ซึ่งกลยุทธ์การลงทุนจะเป็นตัวกำหนดว่า หุ้นในพอร์ตของกองทุนจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร
ยกตัวอย่างเช่น กองทุน MEGA10 จะมีกลยุทธ์การลงทุนที่มุ่งเน้นการลงทุนในบริษัท ที่มีแบรนด์แข็งแกร่งที่สุด 10 อันดับแรก ที่อยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา
ดังนั้นหุ้น 10 อันดับแรกของกองทุน MEGA10 ก็จะมีแต่บริษัทที่แม้แต่คนไม่ลงทุนในตลาดหุ้น ก็ยังรู้จักดี เพราะมีชื่อเสียงของแบรนด์ที่แข็งแกร่งนั่นเอง
5. ผลตอบแทนเทียบความเสี่ยง หรือ Sharpe Ratio
Sharpe Ratio เป็นอัตราส่วนทางการเงิน ที่ใช้เปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนรวมได้ดีว่า
กองทุนแต่ละกองสามารถทำผลตอบแทนได้มากแค่ไหน ภายใต้การรับความเสี่ยงที่เท่า ๆ กัน
โดยเราสามารถหาค่า Sharpe Ratio ได้จาก Factsheet กองทุน ไม่จำเป็นต้องคำนวณเอง
ยิ่งกองทุนไหนมีค่า Sharpe Ratio ที่สูงกว่ากองทุนอื่น ก็แสดงว่า กองทุนนั้นทำผลตอบแทนได้ดีกว่า เมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่เท่า ๆ กัน
6. ผลตอบแทนเทียบกับดัชนีอ้างอิง
สำหรับการลงทุนในกองทุนเชิงรุกแล้ว นักลงทุนก็คงคาดหวังว่าจะได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าการลงทุนในกองทุนอิงดัชนี
แต่หากกองทุนไหนที่มีผลตอบแทนในอดีต น้อยกว่าผลตอบแทนของดัชนีอ้างอิงมาอย่างยาวนาน
เราก็ควรไปเลือกกองทุนเชิงรุกที่ชนะดัชนีอ้างอิง หรือหากธีมการลงทุนที่เราสนใจ ไม่มีกองทุนเชิงรุกที่สามารถเอาชนะดัชนีอ้างอิง
เราก็ควรเลือกลงทุนในกองทุนอิงดัชนีที่มีค่าธรรมเนียมต่ำกว่า และมีผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงมากที่สุด
อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็คงมีความรู้ในการเลือกกองทุน เป็นอาวุธติดตัว ยามที่ต้องพึ่งพาเครื่องมืออย่าง กองทุนรวม เป็นใบเบิกทางไปสู่อิสรภาพทางการเงินกันแล้ว..
References
-หนังสือชี้ชวนสรุปสาระสำคัญของกองทุน MEGA10
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.