ทำไม ราคาหุ้นขึ้นลง ได้เกิน Ceiling และ Floor ?

ทำไม ราคาหุ้นขึ้นลง ได้เกิน Ceiling และ Floor ?

22 มิ.ย. 2023
ทำไม ราคาหุ้นขึ้นลง ได้เกิน Ceiling และ Floor ? - BillionMoney
ในช่วงนี้ สิ่งที่ถูกพูดถึงเกี่ยวกับตลาดหุ้น ตามสื่อต่าง ๆ
ก็คงประมาณว่า “หุ้นขึ้นแรงวิ่งชน Ceiling หรือหุ้นตกหนักจนติด Floor”
ซึ่งทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการกำหนด Ceiling และ Floor ของราคาเสนอซื้อและเสนอขายของหลักทรัพย์ในระหว่างวัน ให้สามารถเปลี่ยนแปลงสูงสุดและต่ำสุด ได้ไม่เกิน 30% ของราคาปิดในวันทำการก่อนหน้า
โดยราคาสูงสุดที่หุ้นสามารถขึ้นไปได้ เราจะเรียกว่า Ceiling ส่วนระดับต่ำสุดที่ราคาหุ้นสามารถลงไปได้ เราจะเรียกว่า Floor
แต่รู้ไหมว่า ก็มีเหตุการณ์ ที่ทำให้หุ้นเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลง ได้มากกว่า 30% ได้เช่นกัน
หลายคนอาจสงสัย ทำไมถึงเป็นแบบนั้น ?
BillionMoney จะมาอธิบายให้เข้าใจ แบบง่าย ๆ
โดยวัตถุประสงค์ที่ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กำหนด Ceiling และ Floor ก็เพื่อ
-ลดความผันผวนของตลาดหุ้น อีกทั้งช่วยให้นักลงทุนมีเวลาศึกษาข้อมูลและย่อยข้อมูล ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อขายหุ้นตัวนั้นอีกด้วย
-ป้องกันการทำราคาหุ้น จากคนบางคนหรือบางกลุ่ม
ที่บิดเบือนไปจากพื้นฐานความเป็นจริงของหุ้น
ยกตัวอย่าง หุ้น A ที่มีราคาปิดในวันทำการก่อนหน้าที่ 10 บาท
การเปลี่ยนแปลงในระหว่างวันของราคาหุ้น A จะเป็นดังนี้
-สามารถเพิ่มขึ้นสูงสุด (Ceiling) ได้ไม่เกิน
10 + (10 * 30%) = 13 บาท
-และสามารถลดลงต่ำสุด (Floor) ได้ไม่ต่ำกว่า
10 - (10 * 30%) = 7 บาท
ซึ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นที่ผันผวนมาก
ทางตลาดหลักทรัพย์อาจจะขอความร่วมมือให้บริษัทจดทะเบียน ต้องชี้แจงข้อมูลว่า มีเหตุการณ์อะไรที่บริษัทยังไม่ได้แจ้งต่อนักลงทุนและสาธารณชนหรือไม่
อย่างไรก็ตาม มาตรการ Ceiling และ Floor จะมีข้อยกเว้นในบางกรณี อย่างเช่น
-หุ้น IPO ที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์วันแรก
โดยราคาซื้อขายสูงสุดหรือต่ำสุด สามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น หรือลดลง ได้ไม่เกิน 300% ของราคาเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 0.01 บาท
-หุ้นที่มีการประกาศขึ้นเครื่องหมายในวันแรก
ยกตัวอย่าง เครื่องหมาย XD หรือวันที่ไม่ได้รับเงินปันผล, XR หรือวันที่ไม่ได้สิทธิจองซื้อหุ้นออกใหม่, XA หรือวันที่ไม่ได้สิทธิทุกประเภทตามที่บริษัทประกาศ
นั่นก็เพราะว่า ราคาซื้อขายสูงสุด หรือต่ำสุด จะต้องถูกคำนวณจากราคาที่หักสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากหุ้นนั้น ๆ นั่นเอง
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นบางประเทศก็ไม่ได้มีมาตรการ Ceiling และ Floor เหมือนอย่างตลาดหุ้นไทย อย่างเช่น ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาก็ไม่มีการกำหนด Ceiling และ Floor เป็นต้น
ซึ่งข้อดี หลายคนมองว่า ถ้าตอนที่หุ้นขึ้น มีโอกาสสร้างกำไรมหาศาล
แต่ต้องอย่าลืมว่า ในทางกลับกัน ราคาหุ้นก็สามารถตกลงอย่างรุนแรง ทำให้นักลงทุนขาดทุนหนักได้เช่นกัน..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ในช่วงวิกฤติล็อกดาวน์ที่ผ่านมา ที่ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนอย่างรุนแรงนั้น
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการปรับเปลี่ยนช่วงราคา Ceiling และ Floor ชั่วคราว ให้เหลือเปลี่ยนแปลงได้ไม่เกิน 15% ของราคาปิดในวันทำการก่อนหน้า
โดยมาตรการนี้ นำมาใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 ก่อนที่จะยกเลิกเกณฑ์ชั่วคราวดังกล่าว
และกลับมาใช้ Ceiling กับ Floor ได้ไม่เกิน 30% ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน..
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.