ทำไมเงินบาทอ่อนค่า ผู้ส่งออกอาจไม่ได้รับประโยชน์เสมอไป

ทำไมเงินบาทอ่อนค่า ผู้ส่งออกอาจไม่ได้รับประโยชน์เสมอไป

18 ก.ค. 2022
ทำไมเงินบาทอ่อนค่า ผู้ส่งออกอาจไม่ได้รับประโยชน์เสมอไป - BillionMoney
รู้ไหมว่า ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปถึง 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
นับว่าเป็นการอ่อนค่าของเงินบาทมากที่สุดในรอบ 6 ปี
คำถามที่น่าสนใจคือ หากเราเปรียบเทียบค่าเงินบาทกับเงินสกุลอื่นจะเป็นอย่างไร
แล้วเครื่องมือที่จะใช้วัดการเปลี่ยนแปลงนี้คืออะไร ?
หากใครที่ติดตามข้อมูลข่าวสารทางเศรษฐกิจเป็นประจำ
หนึ่งในเรื่องที่ถูกพูดถึงอยู่เสมอ คือ “การอ่อนค่าหรือแข็งค่าของสกุลเงิน”
อย่างที่รู้กันว่า หากเงินบาทอ่อนค่า จะเป็นประโยชน์ต่อภาคการส่งออกของประเทศ
เพราะผู้ส่งออกจะมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการแลกเปลี่ยนสกุลเงินอื่น กลับมาเป็นสกุลเงินบาท
ซึ่งการอ่อนค่าหรือแข็งค่าของสกุลเงินบาท มักนำไปเปรียบเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอยู่เสมอ
สาเหตุหลัก ๆ ก็เพราะว่า เงินดอลลาร์สหรัฐถือเป็นสกุลเงินหลัก ที่เราใช้ในการค้าขายสินค้าและบริการระหว่างประเทศ
โดยปี 2021 ประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของไทย 5 อันดับแรก ประกอบไปด้วย
- สหรัฐอเมริกา มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ จำนวน 1.5 ล้านล้านบาท
- จีน มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ จำนวน 1.3 ล้านล้านบาท
- ญี่ปุ่น มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ จำนวน 0.9 ล้านล้านบาท
- เวียดนาม มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ จำนวน 0.4 ล้านล้านบาท
- มาเลเซีย มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ จำนวน 0.4 ล้านล้านบาท
ถึงแม้ว่า การค้าขายกับสหรัฐอเมริกาจะมีมูลค่าสูงที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม มูลค่าการค้าขายกับอีก 4 ประเทศที่เหลือรวมกันสูงถึง 3.0 ล้านล้านบาท
ก็มากกว่าของสหรัฐอเมริกาถึงเท่าตัว
ดังนั้น การดูเพียงอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐเพียงอย่างเดียว
ก็อาจไม่ได้สะท้อนภาพของภาคการส่งออกได้ทั้งหมด
ทีนี้ลองมาดูค่าเงินบาทเมื่อนำไปเทียบกับสกุลเงินต่างประเทศอื่น ๆ กันบ้าง
- ค่าเงินบาทเทียบกับเงินเยนญี่ปุ่น แข็งค่าขึ้น 10%
- ค่าเงินบาทเทียบกับเงินยูโร แข็งค่าขึ้น 4.2%
หมายความว่า ถ้าเราส่งออกสินค้าไปขายยังตลาดเหล่านี้ สินค้าของเราจะดูแพงขึ้นในสายตาของผู้บริโภคที่ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป
ในขณะที่รายได้จากการขายสินค้าของเราก็จะลดลงเช่นกัน เมื่อแลกกลับมาเป็นเงินบาท
พอเรื่องเป็นแบบนี้ เราควรดูว่า ค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นด้วย
โดยสามารถดูได้จากดัชนีค่าเงินบาท หรือ Nominal Effective Exchange Rate หรือ NEER
ซึ่ง NEER เป็นดัชนีชี้วัดค่าเงินบาทที่สร้างขึ้น จากการคำนวณหาค่าเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างค่าเงินบาทกับค่าเงินสกุลอื่นที่สำคัญอีก 25 สกุล
โดยการให้น้ำหนักและความสำคัญของสกุลเงิน ของแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับว่า
ความสำคัญทางการค้ากับประเทศเหล่านั้น ทั้งในแง่ของฐานะประเทศคู่ค้า และคู่แข่งของประเทศไทยว่ามีมากน้อยแค่ไหน
อย่างเช่น ถ้าเราส่งออกสินค้าไปขายที่ประเทศไหนมาก หรือมีคู่แข่งที่ส่งออกสินค้าประเภทเดียวกันกับเราไปขายในตลาดโลก เราก็จะให้น้ำหนักกับสกุลเงินของประเทศนั้น ๆ มากขึ้นตามไปด้วย
ถ้า NEER มีค่าเพิ่มขึ้น หมายความว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง
กลับกัน ถ้า NEER มีค่าลดลง หมายความว่า เงินบาทอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง
ลองมาดูการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2565
- ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 2.3%
- NEER เพิ่มขึ้น 0.68%
หมายความว่า แม้เงินบาทจะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ
แต่ค่าเงินบาทกลับแข็งค่าขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าอื่น ๆ
ถึงตรงนี้ ก็น่าจะสรุปได้ว่า การอ่อนค่าหรือแข็งค่าของเงินบาท เมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลต่างประเทศ
เราควรดูทั้งอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทที่เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ และสกุลเงินอื่นประกอบด้วย
หากเงินบาทอ่อนค่า เมื่อเปรียบเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
ขณะเดียวกัน หากเปรียบเทียบกับเงินสกุลประเทศอื่น ๆ เงินบาทกลับแข็งค่าขึ้น
ก็อาจจะทำให้ประเทศไทยนั้นมีรายได้จากการส่งออกลดลงได้เช่นกัน
ซึ่งการอ่อนค่าลงของเงินบาทเปรียบเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เพียงสกุลเดียว
ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ส่งออกทุกคนจะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้เสมอไป..
© 2023 BillionMoney. All rights reserved.