ทำไมเงินออม ถึงเป็นตัวชี้วัด ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ

ทำไมเงินออม ถึงเป็นตัวชี้วัด ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ

2 ส.ค. 2022
เงินออม ถือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และจำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันของเรา
เพราะเราสามารถนำเงินออมนี้ ไปใช้จ่ายกับสิ่งที่จำเป็นในอนาคต หรือนำไปลงทุนเพื่อสร้างรายได้
แต่รู้หรือไม่ว่าเงินออมที่ฝากอยู่ในบัญชีของเรานั้น สามารถส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม ได้มากกว่าที่เราคิด
เนื่องจากเงินฝากของเรา จะถูกธนาคารนำไปปล่อยกู้ ให้กับธุรกิจต่าง ๆ ที่ต้องการขยายกิจการ
ซึ่งการที่ธุรกิจต่าง ๆ สามารถขยายกิจการได้เพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวด้วยเช่นกัน
เพราะการขยายกิจการ ก็หมายถึงการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น รวมถึงกิจการยังสามารถพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อใช้เพิ่มประสิทธิภาพของตัวเองได้อีกด้วย ส่งผลให้การผลิตของประเทศ มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างเช่น ประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนเงินออมต่อ GDP ค่อนข้างสูง
เนื่องจากไม่เคยมีเงินออม ต่ำกว่า 40% ของ GDP เลย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
ก็ได้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จีน เป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว
ดังที่เห็นจาก อัตราการเติบโตเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ของ GDP จีน ที่สูงถึงเกือบ 10% ต่อปี
นอกจากเงินออม จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภายในประเทศแล้ว
การมีเงินออมมาก ยังทำให้ประเทศมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายนอกด้วย
เพราะถ้าหากประเทศมีเงินออมน้อยเกินไป ความต้องการที่จะลงทุน ของกิจการภายในประเทศ
หรือที่ในทางเศรษฐศาสตร์ เรียกว่า “ช่องว่างการออมและการลงทุน (Saving-Investment Gap)”
ขยายกว้างขึ้น ซึ่งจะทำให้กิจการ ต้องไปกู้เงินจากต่างประเทศ เพื่อทำการขยายกิจการ
และการขยายกิจการ ก็จะตามมาด้วย การนำเข้าเครื่องจักร หรือสินค้าทุน เป็นจำนวนมาก
เพื่อที่จะผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น อันจะนำไปสู่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ในที่สุด
ซึ่งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดนั้น หมายความว่า เรากำลังจ่ายเงินออกไปนอกประเทศ เพื่อซื้อสินค้าเข้ามา
ก็อาจทำให้อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าลง จากการที่เงินสกุลในประเทศ ถูกแลกเป็นเงินสกุลต่างประเทศ
เป็นจำนวนมาก เพื่อจ่ายค่าสินค้านำเข้า
ส่วนประเทศไทยนั้น เมื่อย้อนดูสัดส่วนการออม ต่อ GDP ของไทย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ก็พบว่า
ปี 2017 สัดส่วนการออม เท่ากับ 32.0%
ปี 2018 สัดส่วนการออม เท่ากับ 31.7%
ปี 2019 สัดส่วนการออม เท่ากับ 31.7%
ปี 2020 สัดส่วนการออม เท่ากับ 28.0%
ปี 2021 สัดส่วนการออม เท่ากับ 27.8%
โดยสัดส่วนเงินฝากที่ลดลง ในปี 2020 และปี 2021 นั้น ก็อาจมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19
ที่ทำให้ผู้คน จำเป็นต้องนำเงินออม ออกมาใช้จ่ายก่อน
ในขณะที่สัดส่วนการลงทุนต่อ GDP ของไทยนั้น
ปี 2017 สัดส่วนการลงทุน เท่ากับ 22.9%
ปี 2018 สัดส่วนการลงทุน เท่ากับ 25.2%
ปี 2019 สัดส่วนการลงทุน เท่ากับ 23.8%
ปี 2020 สัดส่วนการลงทุน เท่ากับ 23.7%
ปี 2021 สัดส่วนการลงทุน เท่ากับ 29.1%
เมื่อดูจากข้อมูลข้างต้น ก็หมายความว่าส่วนใหญ่แล้ว ประเทศไทยมีความต้องการออม มากกว่าการลงทุน
เนื่องจากสัดส่วนการออมต่อ GDP มีมากกว่าสัดส่วนการลงทุนต่อ GDP มาตลอด ยกเว้นในปี 2021
แต่ถึงจะมีสัดส่วนการออมที่ค่อนข้างสูง และมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายนอก ที่ค่อนข้างดี
ทว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ของเศรษฐกิจไทย กลับอยู่เพียงแค่ 2.6% ต่อปี เท่านั้น
โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เคยวิเคราะห์ไว้ว่า แม้ประเทศไทย จะมีแหล่งทุนจากเงินออม
เป็นจำนวนมาก แต่ภาคเอกชนของไทยนั้น ไม่มีแรงจูงใจที่จะลงทุนเพิ่ม เนื่องจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ทำให้ความต้องการสินค้าภายในประเทศลดลง พร้อมทั้งเกิดการขาดแคลนแรงงาน อีกทั้งประเทศไทย
ยังมีปัญหา เรื่องเสถียรภาพทางด้านการเมืองอีกด้วย
ทำให้การลงทุนของภาคเอกชนนั้น มีน้อยเกินกว่าที่ควร และนำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจที่ช้าลง
จึงเป็นที่น่าสนใจว่า สัดส่วนการลงทุนต่อ GDP ที่เพิ่มขึ้นมาอย่างมากในปีที่ผ่านมา
ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่า ภาคเอกชนกำลังเริ่มกลับมาลงทุนอีกครั้ง จะช่วยให้เศรษฐกิจไทย กลับมาฟื้นตัว
และเติบโตได้ในระยะยาวหรือไม่
© 2023 BillionMoney. All rights reserved.