
ตรวจสุขภาพการเงินได้ง่าย ๆ ด้วย 4 อัตราส่วนทางการเงิน
8 ส.ค. 2022
หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับการตรวจสุขภาพประจำปี ที่เราต้องตรวจร่างกายของเราในทุก ๆ ปี
เพื่อดูว่าร่างกายของเรายังแข็งแรงอยู่หรือไม่
แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กับสุขภาพร่างกายที่ดี ก็คือสุขภาพทางการเงินของเรา ที่ก็ควรจะดีด้วยเช่นกัน
เพราะถ้าหากสุขภาพทางการเงินของเราไม่ดี ก็สามารถส่งผลให้ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิตแย่ลงได้
การที่จะตรวจเช็กสุขภาพทางการเงินในเบื้องต้นนั้น เราไม่จำเป็นจะต้องเดินทางไปหาหมอ อย่างการตรวจสุขภาพร่างกาย แต่สามารถทำด้วยตัวเองได้ที่บ้าน ผ่านอัตราส่วนทางการเงิน ที่อาศัยเพียงแค่การคิดเลขง่าย ๆ จากข้อมูลการใช้เงินของเรา
ซึ่งโดยหลักการแล้ว สุขภาพทางการเงินของเรานั้น จะประกอบไปด้วย 4 ด้านหลัก ๆ ได้แก่ การใช้จ่าย, การออม, หนี้สิน และการลงทุนในระยะยาว โดยแต่ละด้านก็จะมีอัตราส่วน ที่ใช้วัดสุขภาพทางการเงิน ดังนี้
- ด้านการใช้จ่าย
อัตราส่วนที่ใช้วัดสุขภาพด้านการใช้จ่ายของเราก็คือ อัตราส่วนสภาพคล่อง (Liquidity Ratio) โดยเป็นการนำสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง เช่น เงินสด และกองทุนรวมตลาดเงิน ที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น ๆ ทั้งหมดที่เรามี มาหารด้วยค่าใช้จ่ายต่อเดือน
ค่าที่ได้ออกมา สามารถบอกได้ว่าสภาพคล่อง หรือเงินสดที่เรามีอยู่ทั้งหมดนั้น จะถูกนำไปใช้จ่ายได้กี่เดือน ซึ่งถ้าหากได้ค่าอัตราส่วนสภาพคล่อง อยู่ที่ประมาณ 3 ถึง 6 เท่า ก็ถือว่าเรามีสุขภาพด้านการใช้จ่ายที่ดีมาก เพราะแปลว่าเรามีเงินไว้ใช้จ่ายได้ 3 ถึง 6 เดือน โดยไม่ต้องรบกวนเงินเก็บ หรือเงินลงทุนในระยะยาวเลย
- ด้านการออม
อัตราส่วนที่เป็นตัวแทนสุขภาพด้านการออมก็คือ อัตราส่วนการออม (Saving Ratio) ซึ่งคำนวณจากการนำเงินออมในแต่ละเดือนของเรา มาหารด้วยรายได้ทั้งหมด ที่เข้ากระเป๋าของเราในแต่ละเดือน
ซึ่งการตีความอัตราส่วนตัวนี้ค่อนข้างตรงตัว เพราะอัตราส่วนนี้ จะบอกว่า รายได้ที่เข้ากระเป๋าของเราในแต่ละเดือน ถูกหักไปเป็นเงินออมเท่าไร โดยค่าที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี จะอยู่ที่ประมาณ 20% ขึ้นไป
- ด้านหนี้สิน
ตัวแทนของสุขภาพด้านหนี้สินก็คือ อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ (Debt to Asset Ratio) หาได้ด้วยการนำหนี้สินทั้งหมดที่เรามี มาหารด้วยสินทรัพย์ทั้งหมดที่เรามี ซึ่งจะช่วยบอกเราได้ว่า หนี้สินที่เรามีอยู่นั้น มีมากน้อยแค่ไหน เมื่อเทียบกับสินทรัพย์
โดยค่าของอัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ที่อยู่ในระดับดี คือ ไม่เกิน 50% ซึ่งหมายความว่า เราไม่ควรกู้หนี้ยืมสิน มากเกินกว่าครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์ที่เรามีอยู่ เพราะถ้าหากวันหนึ่งที่เราไม่สามารถชำระหนี้สินได้ จนต้องขายสินทรัพย์บางส่วน เพื่อนำมาชำระหนี้สิน อย่างน้อยก็ยังมีสินทรัพย์อีกครึ่งหนึ่งให้ตั้งตัวใหม่ได้
- ด้านการลงทุนในระยะยาว
อัตราส่วนตัวสุดท้าย ตัวแทนของสุขภาพด้านการลงทุนในระยะยาวก็คือ อัตราส่วนสินทรัพย์การลงทุนต่อความมั่งคั่งสุทธิ (Net Investment Assets to Net Worth Ratio) โดยเป็นการนำมูลค่าของสินทรัพย์ ที่เราได้ลงทุนอยู่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น หุ้น, กองทุน หรือพันธบัตร มารวมกัน แล้วหารด้วยความมั่งคั่งสุทธิ ซึ่งก็คือสินทรัพย์ทั้งหมดที่ถูกหักด้วยหนี้สิน
อัตราส่วนนี้เองจะแสดงให้เห็นว่า เรามีเงินลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่งของเราในระยะยาว มากน้อยแค่ไหน โดยค่าของอัตราส่วนสินทรัพย์การลงทุนต่อความมั่งคั่งสุทธิ ที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี คือ ตั้งแต่ 50% ขึ้นไป
ซึ่งถ้าหากเราอยู่ในช่วงอายุที่ใกล้วัยเกษียณแล้ว การมีอัตราส่วนนี้ในระดับสูง ๆ ได้ จะเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะแปลว่าเรามีเงินไว้พร้อมใช้ หลังการเกษียณ เป็นจำนวนมาก
จะเห็นได้ว่า การตรวจเช็กสุขภาพทางการเงินในเบื้องต้นนั้น สามารถทำได้อย่างไม่ยากเลย เพียงแค่ใช้อัตราส่วน และเกณฑ์ที่ได้กล่าวไปข้างต้น ซึ่งโดยสรุปแล้ว สุขภาพทางการเงินที่อยู่ในเกณฑ์ดีนั้น ควรจะมีค่าของอัตราส่วนทางการเงินที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ดังนี้
อัตราส่วนสภาพคล่อง 3 ถึง 6 เท่า
อัตราส่วนการออม 20% ขึ้นไป
อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ ไม่เกิน 50%
อัตราส่วนสินทรัพย์การลงทุนต่อความมั่งคั่งสุทธิ ตั้งแต่ 50% ขึ้นไป
เพราะฉะนั้นแล้ว ถ้าหากเช็กแล้วพบว่าสุขภาพทางการเงินของเราไม่ค่อยดีนัก ก็แปลว่าถึงเวลาที่เราต้องเริ่มวางแผนทางการเงินอย่างจริงจัง หรือปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ อย่างนักวางแผนทางการเงิน
เพื่อสร้างความยั่งยืนทางการเงิน ให้กับตัวเราต่อไปในอนาคต..