
รู้จัก EDCA วิธีลงทุนทุกเดือน แบบใหม่ ที่ต่อยอดจาก DCA
26 ส.ค. 2022
หลายคนอาจจะเคยได้ยินวิธีการลงทุนแบบ “Dollar Cost Average (DCA)” มาบ้างแล้ว ซึ่งเป็นวิธีการลงทุนในสินทรัพย์หนึ่ง ๆ เป็นจำนวนเงินเท่า ๆ กันทุกเดือน โดยไม่สนใจว่าราคาของสินทรัพย์จะขึ้นหรือลง เพื่อให้ต้นทุนถัวเฉลี่ยออกมาต่ำ
วิธีการลงทุนเช่นนี้เป็นที่นิยมอย่างมาก เนื่องจากไม่ต้องคิดคำนวณราคาเข้าซื้อ หรือราคาขายให้วุ่นวาย และเป็นการสร้างวินัยในการออมเงินให้กับตัวเราเอง แต่รู้หรือไม่ว่าวิธีนี้ ถ้าหากเราปรับเป็นวิธีที่ถูกพัฒนาใหม่ ซึ่งเรียกว่า “EDCA” แล้ว อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการ DCA ได้
และถ้าหากคุณสงสัยว่าทำไมเป็นเช่นนี้ ?
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ
วิธีการลงทุนแบบ “Enhanced Dollar Cost Average (EDCA)” นั้น ถ้าหากแปลตรงตัวก็คือ การซื้อถัวเฉลี่ยต้นทุนแบบปรับปรุงแล้ว ซึ่งผู้ที่คิดค้นวิธีการลงทุนนี้ขึ้นมา คือผู้ช่วยศาสตราจารย์ทางด้านการเงิน 2 คน ได้แก่ Lee Dunham และ Geoffrey C. Friesen ในปี 2011
EDCA จะแตกต่างกับ DCA ปกติ ตรงที่เงินลงทุนในแต่ละเดือน โดยการ DCA นั้น จะเป็นการลงทุนทุกเดือน ในจำนวนเท่า ๆ กัน ไม่ว่าราคาของสินทรัพย์จะขึ้นหรือลง อย่างที่กล่าวไปข้างต้น แต่ว่า EDCA จะทำการเพิ่มเงินลงทุนในเดือนที่ราคาสินทรัพย์ลดลง และลดเงินลงทุนในเดือนที่ราคาสินทรัพย์สูงขึ้น
ซึ่งการลดหรือเพิ่มเงินลงทุน สามารถทำได้ทั้งการกำหนดเป็นจำนวนเงิน หรือเป็นเปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงินก็ได้ เช่น ถ้าหากราคาสินทรัพย์ลดลง 10% เราจะทำการเพิ่มเงินลงทุนเป็น 1,500 บาท จากเดิมเดือนละ 1,000 บาท หรือจะเพิ่มเงินลงทุนขึ้น 10% จาก 1,000 บาท เป็น 1,100 บาท ก็ได้
การเพิ่มหรือลดเงินลงทุนแบบนี้เอง จะช่วยแก้ไขข้อเสียของการ DCA ที่ว่า ถ้าหากราคาสินทรัพย์สูงขึ้นเรื่อย ๆ การที่เราลงทุนด้วยเงินจำนวนเท่าเดิมในทุก ๆ เดือน จะทำให้ต้นทุนเฉลี่ยของเราที่ควรจะต่ำ กลับถูกดึงให้สูงขึ้น ดังเช่นตัวอย่างต่อไปนี้
เดือนที่ 1 หุ้น A มีราคา 10 บาท เราซื้อหุ้น A จำนวน 1,000 บาท จะได้ 100 หุ้น ต้นทุนเฉลี่ย 10 บาท
เดือนที่ 2 หุ้น A มีราคาเพิ่มขึ้น 5% เป็น 10.5 บาท เราซื้อหุ้น A จำนวน 1,000 บาท จะได้ประมาณ 95 หุ้น ต้นทุนเฉลี่ย 10.24 บาท
เดือนที่ 3 หุ้น A มีราคาเพิ่มขึ้น 10% เป็น 11.55 บาท เราซื้อหุ้น A จำนวน 1,000 บาท จะได้ประมาณ 86 หุ้น ต้นทุนเฉลี่ย 10.64 บาท
เดือนที่ 2 หุ้น A มีราคาเพิ่มขึ้น 5% เป็น 10.5 บาท เราซื้อหุ้น A จำนวน 1,000 บาท จะได้ประมาณ 95 หุ้น ต้นทุนเฉลี่ย 10.24 บาท
เดือนที่ 3 หุ้น A มีราคาเพิ่มขึ้น 10% เป็น 11.55 บาท เราซื้อหุ้น A จำนวน 1,000 บาท จะได้ประมาณ 86 หุ้น ต้นทุนเฉลี่ย 10.64 บาท
จะเห็นได้ว่าต้นทุนเฉลี่ยของหุ้นนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อันจะเป็นผลเสียให้กับการลงทุนของเรา เพราะถ้าหากราคาหุ้นลดลง เราจะขาดทุนไวขึ้น
ในขณะที่สถานการณ์เดียวกัน แต่เป็นการลงทุนแบบ EDCA ที่จะเพิ่มหรือลดเงินลงทุน ตามการขึ้นและลงของราคาหุ้น ซึ่งในที่นี้จะสมมติว่า เราลดเงินลงทุนลง 100 บาท จากเดือนก่อน ถ้าหากมีราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 5%, 10%, 15%, 20% และ 25% ก็จะพบว่า
เดือนที่ 1 หุ้น A มีราคา 10 บาท เราซื้อหุ้น A จำนวน 1,000 บาท จะได้ 100 หุ้น ต้นทุนเฉลี่ย 10 บาท
เดือนที่ 2 หุ้น A มีราคาเพิ่มขึ้น 5% เป็น 10.5 บาท เราซื้อหุ้น A จำนวน 900 บาท จะได้ประมาณ 85 หุ้น ต้นทุนเฉลี่ย 10.23 บาท
เดือนที่ 3 หุ้น A มีราคาเพิ่มขึ้น 10% เป็น 11.55 บาท เราซื้อหุ้น A จำนวน 800 บาท จะได้ประมาณ 69 หุ้น ต้นทุนเฉลี่ย 10.59 บาท
เดือนที่ 2 หุ้น A มีราคาเพิ่มขึ้น 5% เป็น 10.5 บาท เราซื้อหุ้น A จำนวน 900 บาท จะได้ประมาณ 85 หุ้น ต้นทุนเฉลี่ย 10.23 บาท
เดือนที่ 3 หุ้น A มีราคาเพิ่มขึ้น 10% เป็น 11.55 บาท เราซื้อหุ้น A จำนวน 800 บาท จะได้ประมาณ 69 หุ้น ต้นทุนเฉลี่ย 10.59 บาท
จะเห็นได้ว่าต้นทุนเฉลี่ยของการลงทุนแบบ EDCA นั้นถูกกว่า แม้ราคาหุ้นจะขึ้นสูงอย่างรวดเร็วเหมือนกัน ซึ่งการที่เรามีต้นทุนเฉลี่ยที่ต่ำนี้เอง จะทำให้เรามีผลตอบแทนที่สูงขึ้น เพราะว่าเรามีหุ้นที่ราคาถูกกว่าที่ซื้อขายกันในตลาดมาก ทำให้เวลาจะนำไปขายก็จะได้กำไรสูง
โดยในงานวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Lee Dunham และ Geoffrey C. Friesen ได้ทดสอบการลงทุนแบบ EDCA ในดัชนี S&P 500, Dow Jones, NASDAQ และกองทุนรวมขนาดใหญ่อีกกว่า 100 กอง ตั้งแต่ปี 2000-2009
ก็พบว่า การลงทุนแบบ EDCA นั้น มีโอกาสที่จะทำกำไร ได้มากกว่าการลงทุนแบบ DCA ปกติถึง 77% ในช่วง 2 ปีแรก โอกาสนี้จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะยาว โดยใน 5 ปี การลงทุนแบบ EDCA มีโอกาสทำกำไรได้มากกว่า การลงทุนแบบ DCA ถึง 92% และใน 30 ปี การลงทุนแบบ EDCA มีโอกาสทำกำไรได้มากกว่าการลงทุนแบบ DCA ถึง 95% เลยทีเดียว
งานวิจัยยังแสดงให้เห็นว่า การลงทุนแบบ EDCA เหมาะกับสินทรัพย์ที่มีราคาผันผวนสูง โดยจากผลการทดสอบพบว่า การลงทุนแบบ EDCA สามารถให้ผลตอบแทนมากกว่าการลงทุนแบบ DCA เมื่อลงทุนในดัชนีหุ้น แต่ให้ผลตอบแทนไม่ต่างกัน เมื่อลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้
งานวิจัยในประเทศไทยก็ได้ให้ผลสอดคล้องกัน โดยวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ทำการทดสอบการลงทุนแบบ EDCA เทียบกับหลาย ๆ วิธีการลงทุน ในกองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมตราสารทุน และกองทุนรวมผสมของไทย ตั้งแต่ปี 2010-2015
ซึ่งพบว่า หากเทียบกับวิธีการลงทุนอื่น กลยุทธ์การลงทุนแบบ EDCA ให้ผลตอบแทนสูงสุดสำหรับ กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมตราสารทุน และกองทุนรวมผสม ที่ปรับพอร์ตทุก ๆ 6 เดือน
อย่างไรก็ตาม การ EDCA ยังมีข้อเสียเดียวกันกับการ DCA แบบปกติ นั่นคือการเลือกสินทรัพย์ที่จะลงทุน โดยจะต้องเลือกสินทรัพย์ให้ถูกต้อง เพราะถ้าหากเราถัวเฉลี่ยซื้อสินทรัพย์ที่มูลค่ากำลังร่วงไปสู่ 0 ก็จะทำให้เราขาดทุนหนักได้มากเช่นกัน
ส่วนอีกข้อเสียหนึ่งก็คือ หากสินทรัพย์นั้นมีราคาเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ เราอาจต้องลงทุนน้อยลงไปเรื่อย ๆ จนอาจเป็นจำนวนเงินที่น้อยมาก หากสินทรัพย์มีราคาเพิ่มขึ้นไปหลายเท่าตัว ซึ่งเรื่องนี้อาจทำให้เราต้องหาสินทรัพย์ใหม่ในการลงทุน
นอกจากนี้ การลงทุนแบบ EDCA อาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีเงินลงทุนในแต่ละเดือนน้อย เพราะถ้าหากราคาสินทรัพย์ลดลง เราจะต้องทำการเพิ่มเงินลงทุน แต่ในบางครั้งเดือนนั้นเราอาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงิน ทำให้ไม่สามารถแบ่งเงินมาลงทุนเพิ่มได้ ก็จะทำให้เสียโอกาสในการลงทุนไป
เพราะฉะนั้นแล้ว จะเห็นได้ว่าการลงทุนแบบ EDCA ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังเช่นวิธีการลงทุนอื่น ๆ ทั่วไป แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การ EDCA นั้น ก็เป็นอีกวิธีการลงทุนหนึ่งที่น่าสนใจ และทำความเข้าใจได้ไม่ยากนัก
ทั้งยังสามารถช่วยให้เราลงทุนได้อย่างเป็นระบบ ในช่วงที่สภาพตลาดสินทรัพย์มีความผันผวน จากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก อย่างเช่นในตอนนี้..
References
-https://medium.com/quantum-economics/what-is-enhanced-dollar-cost-averaging-and-how-can-it-improve-returns-61e18322367e
-https://digitalcommons.unl.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1025&context=financefacpub
-http://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2015/TU_2015_5702112508_4042_2428.pdf
-https://medium.com/quantum-economics/what-is-enhanced-dollar-cost-averaging-and-how-can-it-improve-returns-61e18322367e
-https://digitalcommons.unl.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1025&context=financefacpub
-http://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2015/TU_2015_5702112508_4042_2428.pdf