
“อุรุกวัย” ประเทศที่ร่ำรวยได้ ด้วยการศึกษา และอุตสาหกรรมเกษตร
21 ก.ย. 2022
“อุรุกวัย” ประเทศที่ร่ำรวยได้ ด้วยการศึกษา และอุตสาหกรรมเกษตร - BillionMoney
เมื่อพูดถึงอุรุกวัย หลายคนอาจนึกถึงทีมฟุตบอลจากทวีปอเมริกาใต้ ที่เล่นได้อย่างดุดัน และมักจะเข้ารอบลึก ๆ ของการแข่งขันฟุตบอลทั้งในระดับทวีป และระดับโลก
แต่รู้หรือไม่ว่า นอกจากความสำเร็จด้านกีฬาแล้ว อุรุกวัยยังเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จ ทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ด้วยการเป็นประเทศรายได้สูงได้สำเร็จในปี 2012 และยังกลายเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ มาตั้งแต่ปี 2014 อีกด้วย
และถ้าหากคุณสงสัย ว่าอะไรทำให้อุรุกวัย สามารถเจริญได้มากขนาดนี้ ?
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ
ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของอุรุกวัยนั้น ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 1603 เมื่อชาวสเปนที่เข้ามาตั้งอาณานิคมในแถบประเทศอาร์เจนตินา ได้นำปศุสัตว์เข้ามาเลี้ยงในบริเวณที่เป็นประเทศอุรุกวัยในปัจจุบัน
เนื่องจากอุรุกวัยนั้น ตั้งอยู่ตรงที่ราบลุ่ม La Plata ซึ่งอยู่ใกล้กับปากแม่น้ำ ของแม่น้ำที่สำคัญสองสายในทวีปอเมริกาใต้ คือ แม่น้ำ Rio Negro ที่ไหลมาจากประเทศบราซิล และแม่น้ำ Rio De La Plata ที่ไหลมาจากประเทศอาร์เจนตินา นั่นจึงทำให้ผืนดินของอุรุกวัยมีความอุดมสมบูรณ์ พร้อมกับเป็นทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ที่เหมาะแก่การเลี้ยงสัตว์เป็นอย่างมาก
ซึ่งหลังจากเปลี่ยนมือผู้ปกครอง จากสเปนไปเป็นโปรตุเกส ในปี 1820 อุรุกวัยก็ได้รับเอกราช ในปี 1828
โดยหลังจากอุรุกวัยได้เอกราชไม่นาน อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ของอุรุกวัย ที่มีรากฐานมาอย่างยาวนาน ก็ได้เวลาผลิดอกออกผล
โดยหลังจากอุรุกวัยได้เอกราชไม่นาน อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ของอุรุกวัย ที่มีรากฐานมาอย่างยาวนาน ก็ได้เวลาผลิดอกออกผล
เพราะประเทศในยุโรปต่างเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้ความต้องการอาหารพุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมาก อุรุกวัยซึ่งเป็นประเทศที่เลี้ยงวัวจำนวนมากอยู่แล้ว ก็ได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก จากการส่งออกเนื้อวัวกระป๋อง ไปป้อนให้กับแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมทั่วยุโรป และยังส่งออกขนแกะ ไปเป็นวัตถุดิบสำคัญในโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านั้นด้วย
นอกจากความเจริญทางเศรษฐกิจแล้ว รัฐบาลของอุรุกวัยยังได้เริ่มพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน ตั้งแต่ปี 1903 ในช่วงของประธานาธิบดี José Batlle y Ordóñez ผ่านระบบสวัสดิการของแรงงานที่เป็นธรรม และยังตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาประกอบกิจการที่จำเป็น เช่น ประกันภัย, สาธารณูปโภค และธนาคาร เป็นต้น
ด้วยสองปัจจัยนี้เอง จึงทำให้ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แรงงานจากยุโรป เช่น ชาวอิตาลี และชาวสเปน หลั่งไหลเข้ามาทำงานในประเทศอุรุกวัยอย่างมาก เนื่องจากมีงานจำนวนมากให้ทำ แถมยังมีคุณภาพชีวิตที่ดี
อย่างไรก็ตาม ยุคทองของอุรุกวัยในช่วงแรก ก็ถึงคราวต้องสะดุดลง จากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ Great Depression ในปี 1930 ที่ทำให้การส่งออกของอุรุกวัยลดลงอย่างมาก อุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์จึงไม่มีแรงจูงใจที่จะลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์ เพราะค้าขายไม่ได้กำไร ส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์เพื่อการส่งออก ยิ่งถดถอยลงไปอีก
รัฐบาลอุรุกวัยในช่วงนั้น พยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยการเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจ มาเป็นการทำอุตสาหกรรมในประเทศ แทนการส่งออก แต่ก็ไม่ได้ผลนัก เนื่องจากอุรุกวัยมีประชากรน้อย ทำให้ตลาดของสินค้าเล็กตามไปด้วย เศรษฐกิจของอุรุกวัยจึงขยายตัวได้เพียงน้อยนิด
นอกจากนั้น การนำเข้าเครื่องจักรจำนวนมาก เพื่อทำอุตสาหกรรม ก็ได้ทำให้เกิดการขาดดุลบัญชีชำระเงิน จนนำไปสู่การอ่อนค่าของเงิน และส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อสูงอีกด้วย ปัญหาเศรษฐกิจเหล่านี้ ได้นำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมืองที่ตามมา จนกระทั่งรัฐบาลทหารได้เข้ายึดอำนาจ ในปี 1973 พร้อมกับครองอำนาจนานถึง 12 ปี แต่ก็ยังแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้เช่นกัน
นโยบายเศรษฐกิจของอุรุกวัยตั้งแต่นั้น ก็คือการเปิดเสรีทางการค้า, เศรษฐกิจ และการเงิน แต่การเปิดเสรีที่รวดเร็วเกินไป จนไม่ทันระวัง ก็นำไปสู่วิกฤติการณ์ทางการเงิน 2 ครั้ง ในปี 1982 และปี 2002 จากการที่ระบบธนาคารของประเทศ เต็มไปด้วยเงินกู้ในสกุลดอลลาร์สหรัฐ
วิกฤติเศรษฐกิจครั้งหลังนี้เอง ทำให้หนี้สาธารณะของอุรุกวัย พุ่งจาก 35.7% ต่อ GDP เป็น 84.34% ต่อ GDP ภายในปีเดียว จนหลาย ๆ ประเทศมองว่า อุรุกวัยน่าจะต้องล้มละลาย แต่อย่างไรก็ตาม อุรุกวัยก็สามารถจัดการกับวิกฤติได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการปฏิรูปภาคการเงิน และการปล่อยลอยตัวค่าเงิน
ซึ่งหลังจากผ่านวิกฤติเศรษฐกิจการเงิน จนมาถึงปี 2008 รัฐบาลอุรุกวัยก็ได้ตระหนักว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจังเสียที โดยทางรัฐบาลอุรุกวัย ได้เน้นการปฏิรูปใน 2 สิ่ง ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ การเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตร เพื่อการส่งออกของอุรุกวัย และอีกสิ่งหนึ่งคือ การพัฒนาทุนมนุษย์ ด้วยการขยายสวัสดิการด้านการศึกษาที่มีอยู่แล้ว ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
โดยอุตสาหกรรมการเกษตรของอุรุกวัยนั้น มีความพร้อมอยู่แล้ว ขาดเพียงแค่เทคโนโลยีที่จะมายกระดับ นั่นจึงทำให้ทางรัฐบาลอุรุกวัย ผ่านกฎหมายที่อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติ สามารถเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตรของอุรุกวัยได้
อีกทั้งรัฐบาลยังแก้ปัญหาเรื่องขนาดตลาดที่เล็กของอุรุกวัย ด้วยการเข้าร่วมกลุ่ม Mercosur ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่คล้ายกับ ASEAN แต่เป็นของกลุ่มประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ตั้งแต่ปี 1991 แถมในตอนนี้ยังมีความพยายาม ที่จะทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศจีนอีกด้วย
ส่วนด้านการศึกษา จากแต่เดิมที่สวัสดิการเหล่านี้ ครอบคลุมเพียงแค่พื้นที่ในเมือง ทางรัฐบาลอุรุกวัยก็ได้ขยายการศึกษาที่มีคุณภาพ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากจะทำให้อุรุกวัย มีแรงงานที่มีคุณภาพในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร เนื่องจากแรงงานภาคการเกษตรในชนบท ได้รับการศึกษาที่ดีแล้ว ยังเป็นการแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน กว่าการให้เงินช่วยเหลือจากสวัสดิการของรัฐเพียงอย่างเดียวด้วย
ผลของการเปิดรับเงินลงทุนจากต่างประเทศ ในอุตสาหกรรมการเกษตรนี้เอง และการขยายตลาดด้วยการเข้าร่วมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ก็ได้ทำให้อุตสาหกรรมการเกษตรของอุรุกวัย รับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามายกระดับการผลิต จนทำให้อุรุกวัยเป็นหนึ่งในประเทศส่งออกเนื้อวัวรายใหญ่ของโลก โดยในปี 2021 อุรุกวัยส่งออกเนื้อวัวมากเป็นอันดับ 10 ของโลก ด้วยมูลค่ากว่า 79,000 ล้านบาท
และการศึกษาที่ทั่วถึงนี้ รวมถึงสวัสดิการอื่น ๆ ที่ถูกพัฒนาให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น นอกจากจะทำให้อุรุกวัย มีแรงงานคุณภาพไว้ป้อนให้อุตสาหกรรมหลักแล้ว ยังทำให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้รับแรงงานที่มีคุณภาพ ไปช่วยในการพัฒนาด้วย
ซึ่งในปี 2021 อุรุกวัยได้รับการจัดอันดับ ให้เป็นประเทศที่มีระบบนิเวศสตาร์ตอัป ดีที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของทวีปอเมริกาใต้ และเป็นอันดับที่ 26 ของโลก โดยธุรกิจสตาร์ตอัปส่วนใหญ่จะเป็น FinTech, E-Commerce และ Software
ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้เอง ทำให้ตั้งแต่เริ่มพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ในปี 2008 จนถึงปี 2021 โดยเฉลี่ยแล้วเศรษฐกิจของอุรุกวัย สามารถเติบโตได้ประมาณ 5.3% ต่อปีเลยทีเดียว และยังทำให้อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ลดลงมาเหลือ 58% เท่านั้น ในปี 2020
แถมการเติบโตทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ ก็เป็นการเติบโตที่มาพร้อมกับคุณภาพชีวิตที่ดี และมีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง โดยสะท้อนจากการพัฒนามนุษย์ ที่อยู่ในระดับสูงมากมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2015 และคนรวยที่สุด 10% ของอุรุกวัย ก็ถือครองทรัพย์สินประมาณ 58% เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาด้วยกัน โดยคนที่คนรวยที่สุด 10% จะถือครองทรัพย์สินมากถึง 77%
จากทั้งหมดจะเห็นได้ว่า เส้นทางของอุรุกวัยกว่าจะมาเป็นประเทศรายได้สูงนั้น ไม่ได้ราบรื่นเลย แต่ด้วยการแก้ปัญหาที่ตรงจุด และการวางนโยบายที่ถูกต้อง อุรุกวัยจึงสามารถใช้ประโยชน์ จากอุตสาหกรรมที่มีความถนัดอยู่แล้ว อย่างการผลิตเนื้อวัวเพื่อส่งออก ให้กลายเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจได้
และอุรุกวัยยังได้แสดงให้เห็นอีกด้วยว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็ไม่จำเป็นต้องมาพร้อมกับความเหลื่อมล้ำที่สูงเสมอไป..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ในปี 2021 อุรุกวัยมีคะแนนความโปร่งใส มากถึง 73 คะแนนจาก 100 คะแนน ทำให้อุรุกวัยเป็นประเทศที่มีความโปร่งใส มากกว่าประเทศมหาอำนาจอย่าง ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกาเสียอีก
ในปี 2021 อุรุกวัยมีคะแนนความโปร่งใส มากถึง 73 คะแนนจาก 100 คะแนน ทำให้อุรุกวัยเป็นประเทศที่มีความโปร่งใส มากกว่าประเทศมหาอำนาจอย่าง ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกาเสียอีก
References
-https://www.marines.mil/portals/1/Publications/Uruguay%20Study_2.pdf?ver=2012-10-11-163307-220
-https://uy.usembassy.gov/wp-content/uploads/sites/113/2016/09/Uruguay-Economic-Summary-201606.pdf
-https://www.britannica.com/place/Uruguay/The-struggle-for-national-identity
-https://ag.arizona.edu/oals/ALN/aln44/milich7.html
-https://manifold.bfi.uchicago.edu/read/the-case-of-uruguay/section/73a6299a-0627-45b0-a058-988a3b4a4b52
-https://www.imf.org/external/datamapper/CG_DEBT_GDP@GDD/URY
-http://www.sice.oas.org/ctyindex/URY/URYagreements_e.asp
-https://www.uruguayxxi.gub.uy/uploads/informacion/5affd26dce2ca92a70636927a5d83c410bbddf85.pdf
-https://education-profiles.org/latin-america-and-the-caribbean/uruguay/~inclusion
-https://dialogochino.net/en/trade-investment/56817-uruguay-china-fta-negotiations-tensions-over-mercosur-future/
-https://www.worldstopexports.com/top-beef-exporting-countries/
-https://www.startupblink.com/startup-ecosystem/uruguay
-https://www.theglobaleconomy.com/rankings/human_development/
-https://wid.world/world/
-https://www.transparency.org/en/cpi/2021?gclid=CjwKCAjw1ICZBhAzEiwAFfvFhHTW0wAgMP7FxB_n1FRyGuWqm828CoFQ-cZHusgpvGo79qEX7LBsURoChaYQAvD_BwE
-https://www.marines.mil/portals/1/Publications/Uruguay%20Study_2.pdf?ver=2012-10-11-163307-220
-https://uy.usembassy.gov/wp-content/uploads/sites/113/2016/09/Uruguay-Economic-Summary-201606.pdf
-https://www.britannica.com/place/Uruguay/The-struggle-for-national-identity
-https://ag.arizona.edu/oals/ALN/aln44/milich7.html
-https://manifold.bfi.uchicago.edu/read/the-case-of-uruguay/section/73a6299a-0627-45b0-a058-988a3b4a4b52
-https://www.imf.org/external/datamapper/CG_DEBT_GDP@GDD/URY
-http://www.sice.oas.org/ctyindex/URY/URYagreements_e.asp
-https://www.uruguayxxi.gub.uy/uploads/informacion/5affd26dce2ca92a70636927a5d83c410bbddf85.pdf
-https://education-profiles.org/latin-america-and-the-caribbean/uruguay/~inclusion
-https://dialogochino.net/en/trade-investment/56817-uruguay-china-fta-negotiations-tensions-over-mercosur-future/
-https://www.worldstopexports.com/top-beef-exporting-countries/
-https://www.startupblink.com/startup-ecosystem/uruguay
-https://www.theglobaleconomy.com/rankings/human_development/
-https://wid.world/world/
-https://www.transparency.org/en/cpi/2021?gclid=CjwKCAjw1ICZBhAzEiwAFfvFhHTW0wAgMP7FxB_n1FRyGuWqm828CoFQ-cZHusgpvGo79qEX7LBsURoChaYQAvD_BwE