วิธีเลือกหุ้นกู้ ซื้ออย่างไรให้เสี่ยงน้อยที่สุด

วิธีเลือกหุ้นกู้ ซื้ออย่างไรให้เสี่ยงน้อยที่สุด

23 ม.ค. 2023
วิธีเลือกหุ้นกู้ ซื้ออย่างไรให้เสี่ยงน้อยที่สุด - BillionMoney
หุ้นกู้ หนึ่งในการลงทุนที่หลาย ๆ คนคิดว่ามีความเสี่ยงต่ำ เพียงแค่ซื้อทิ้งไว้ แล้วรอรับดอกเบี้ยและเงินต้นคืน เมื่อครบกำหนดอายุ
แต่รู้หรือไม่ว่า หุ้นกู้บางตัว ก็เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงได้เหมือนกัน
เพราะจริง ๆ แล้ว หุ้นกู้ไม่ได้มีการรับประกันผลตอบแทนและเงินต้น
นั่นหมายความว่า ถ้าเราซื้อหุ้นกู้ไว้ แล้วบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ เกิดปัญหาทางการเงิน หรือล้มละลาย เราอาจจะไม่ได้รับดอกเบี้ย และอาจต้องสูญเสียเงินลงทุนบางส่วนหรือทั้งหมดไป
และถึงแม้หุ้นกู้ของเรา จะผ่านการพิจารณาจาก ก.ล.ต. แล้ว แต่ ก.ล.ต. ก็ไม่มีอำนาจในการบังคับให้ผู้ออกหุ้นกู้ชำระหนี้ หรือชดใช้เงินคืนให้แก่ผู้ลงทุน
ในเมื่อหุ้นกู้ก็มีความเสี่ยงอยู่ในตัว แล้วเราควรเลือกหุ้นกู้อย่างไร ให้เสี่ยงน้อยที่สุด
BillionMoney จะอธิบายให้ฟัง
แม้หุ้นกู้จะดูเหมือนเป็นการลงทุนที่ไม่มีความซับซ้อนเท่าการลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ แต่ก็มีเรื่องที่ควรพิจารณาก่อนซื้อหุ้นกู้อยู่ 3 ข้อหลัก ๆ ที่จะช่วยให้เราเข้าใจความเสี่ยงก่อนการลงทุนได้ดีขึ้น โดยได้แก่
1.ความน่าเชื่อถือของผู้ออกหุ้นกู้
สำหรับผู้ที่ยังไม่มีความเชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจและการลงทุน อาจไม่รู้ว่าแต่ละบริษัทที่ออกหุ้นกู้มาขาย มีความน่าเชื่อถือแค่ไหน
โดยเรื่องนี้ ผู้ลงทุนสามารถตรวจเช็กความน่าเชื่อถือได้ง่าย ๆ เพราะในประเทศไทยมีสถาบันจัดอันดับเครดิต ที่คอยจัดอันดับความน่าเชื่อถือของแต่ละหุ้นกู้ให้เราทราบ
ซึ่งอันดับเครดิตของหุ้นกู้ ก็มีตั้งแต่ระดับเครดิตที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด คือ ระดับ AAA ไล่ไปจนถึงระดับ D ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำสุด
โดยอันดับเครดิต ถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
-กลุ่มน่าลงทุน (Investment Grade) โดยมีตั้งแต่ระดับเครดิต BBB- ขึ้นไปจนถึงระดับ AAA
-กลุ่มเก็งกำไร (Speculative Grade) โดยมีตั้งแต่ระดับเครดิต BB+ ไล่ลงไปจนถึงระดับ D
แล้วเราสามารถซื้อหุ้นกู้ในกลุ่มเก็งกำไร ได้ไหม ?
คำตอบคือ สามารถซื้อได้ แต่หุ้นกู้ในกลุ่มนี้ ถือเป็นกลุ่มที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ ความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ก็จะสูงตามไปด้วย
และเมื่อดูจากระดับเครดิตแล้ว บางคนอาจคิดที่จะซื้อแต่หุ้นกู้ระดับ AAA เพราะมีความเสี่ยงต่ำที่สุด
ซึ่งก็เป็นความคิดที่ไม่ผิด แต่อย่างไรก็ตาม หุ้นกู้ที่มีระดับเครดิตที่ดี ก็มักจะให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าหุ้นกู้ที่มีระดับเครดิตที่แย่กว่า หรือเรียกง่าย ๆ ว่า High Risk High Return
อีกทั้งต้องเข้าใจว่า อันดับเครดิตของหุ้นกู้สามารถมีการเปลี่ยนแปลงได้ ตามความสามารถในการชำระหนี้ของกิจการ หมายความว่า หุ้นกู้ระดับ AAA ก็สามารถตกลงไปเป็นระดับ AA+ หรือต่ำกว่าได้เช่นกัน
2.หลักประกันของหุ้นกู้
หุ้นกู้มีทั้งแบบที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน โดยหลักประกันในที่นี้ คือ สินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น อาคารหรือที่ดิน ที่ผู้ออกหุ้นกู้นำมาใช้ค้ำประกันหุ้นกู้ของตน
นั่นหมายความว่า ถ้าบริษัทเกิดปัญหาจนไม่สามารถจ่ายเงินคืนให้แก่ผู้ที่ซื้อหุ้นกู้ไปได้ สินทรัพย์ที่นำมาเป็นหลักประกัน จะถูกนำมาขายทอดตลาด แล้วนำเงินมาใช้คืนให้แก่ผู้ที่ซื้อหุ้นกู้ชนิดมีหลักประกัน ก่อนผู้ที่ซื้อหุ้นกู้แบบไม่มีหลักประกัน
อาจดูเหมือนว่าการซื้อหุ้นกู้ที่มีหลักประกัน จะปลอดภัยกว่าแบบไม่มีหลักประกัน แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูคุณภาพ และความน่าเชื่อถือของหลักประกันด้วย
เพราะมีบางกรณีที่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ ใช้หุ้นของบริษัทหรือบริษัทที่เกี่ยวข้องเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน หากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ มูลค่าหุ้นอาจลดลง ซึ่งก็หมายถึงมูลค่าหลักประกันที่ลดลงเช่นกัน
3.สิทธิของหุ้นกู้
หุ้นกู้มีทั้งแบบด้อยสิทธิและไม่ด้อยสิทธิ โดยสิทธิในที่นี้ คือสิทธิการเรียกร้องในสินทรัพย์ในกรณีที่ผู้ออกหุ้นกู้ล้มละลาย
ซึ่งผู้ที่ซื้อหุ้นกู้แบบไม่ด้อยสิทธิจะได้รับสิทธิก่อน หรือก็คือได้รับการชำระหนี้ก่อนหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงที่น้อยกว่า
ถึงแม้ว่าหุ้นกู้จะมีหลายประเภท แต่ก็มีลักษณะการให้ผลตอบแทนไปในทิศทางเดียวกันคือ ผลตอบแทนที่สูงแลกกับความเสี่ยงที่สูง และผลตอบแทนที่ต่ำ มาพร้อมกับความเสี่ยงที่ต่ำ
ดังนั้น ในการเลือกซื้อหุ้นกู้ เราจึงควรหาสมดุลระหว่างผลตอบแทนที่เราคาดหวัง กับความเสี่ยงที่เรารับได้ โดยใช้ปัจจัยต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไป เป็นตัวช่วยในการพิจารณา
แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ควรลงทุนในหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูงจนเกินไป หากเรายังไม่มีความมั่นคงด้านการเงินที่มากพอ
© 2023 BillionMoney. All rights reserved.