นักลงทุนระดับโลก ทรัพย์สินหาย 3 แสนล้าน ในวันเดียว หลังถูกกล่าวหา ทำแชร์ลูกโซ่

นักลงทุนระดับโลก ทรัพย์สินหาย 3 แสนล้าน ในวันเดียว หลังถูกกล่าวหา ทำแชร์ลูกโซ่

26 พ.ค. 2023
นักลงทุนระดับโลก ทรัพย์สินหาย 3 แสนล้าน ในวันเดียว หลังถูกกล่าวหา ทำแชร์ลูกโซ่ - BillionMoney
นักลงทุนที่เรากำลังพูดถึง คือ คาร์ล ไอคาห์น
เขาคนนี้ คือหนึ่งในนักลงทุน ที่มีชื่อเสียงระดับโลกคนหนึ่ง และเขาเป็นนักลงทุนชาวอเมริกัน ที่มีความมั่งคั่งสุทธิอยู่ที่ 865,825 ล้านบาท
โดยคาร์ล ไอคาห์น นั้นมีสไตล์การลงทุนที่แตกต่างจากนักลงทุนระดับโลกหลาย ๆ คน
เขามักจะเข้าไปลงทุนในบริษัทที่มีปัญหา ในราคาถูก แล้วพยายามเข้าไปบริหารบริษัทเหล่านั้น จนสามารถขายบริษัทได้ในราคาที่สูงขึ้นในอนาคต
แต่ตอนนี้นักลงทุนระดับโลกอย่าง คาร์ล ไอคาห์น กำลังถูกกล่าวหาอย่างหนักว่า ธุรกิจของเขานั้น มีโมเดลธุรกิจ ที่เหมือนกับ “แชร์ลูกโซ่” จนทำให้ทางการสหรัฐอเมริกากำลังเข้าสืบสวนเขาในกรณีดังกล่าวด้วย
แล้วเรื่องราวนี้มีที่มาอย่างไร ?
BillionMoney จะอธิบายให้เข้าใจ แบบง่าย ๆ
คาร์ล ไอคาห์น เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Icahn Enterprises (IEP) ซึ่งเป็น Holding Company หรือบริษัทที่มีรายได้หลักมาจากการถือหุ้นในบริษัทอื่น ๆ โดย คาร์ล ไอคาห์น และเบรตต์ ผู้เป็นลูกชาย ถือหุ้นรวมกันเกินกว่า 85%
แต่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมานี้ ทาง Hindenburg Research บริษัทด้านการลงทุนที่เคยออกมาเปิดโปงการตกแต่งบัญชีของ Adani Group อดีตเศรษฐีที่รวยที่สุดในเอเชีย
ได้ออกมาเปิดเผยว่า ราคาหุ้นของ IEP ที่ซื้อขายกันในตลาดหุ้นในตอนนั้น มีมูลค่าที่สูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงของบริษัทมากถึง 218% โดยตอนนั้น หุ้น IEP ในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ซื้อขายที่ราคาประมาณ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น
โดย Hindenburg Research ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้น IEP แพงเกินกว่าความเป็นจริงมีอยู่ 3 เหตุผลด้วยกัน
-มีการบันทึกมูลค่าการลงทุนที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์เกินจริง
โดยทาง Hindenburg คาดว่า มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของ IEP จริง ๆ แล้ว น่าจะอยู่ที่ประมาณ 151,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าที่น้อยกว่าที่ IEP รายงานไว้ 22%
-มีการเสนอผลตอบแทนจากเงินปันผลที่สูงมากถึง 15.8% ต่อปี มากที่สุดในกลุ่มบริษัทใหญ่ของสหรัฐอเมริกา
-ชื่อเสียงของ คาร์ล ไอคาห์น ดึงดูดให้นักลงทุนซื้อหุ้น เพราะหวังว่าจะได้รับผลตอบแทนในระดับสูง
นอกจากนี้ยังมีการใช้อิทธิพล และความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งในการออกบทวิเคราะห์ เพื่อโน้มน้าวให้นักลงทุนซื้อหุ้นของ IEP อีกด้วย
โดยคาร์ล ไอคาห์น ถูกกล่าวหาว่า ได้ใช้คอนเน็กชัน จากการที่เคยเข้าไปช่วยเหลือบริษัทหลักทรัพย์นั้น ให้รอดพ้นจากภาวะล้มละลายในช่วงวิกฤติปี 2008
เมื่อบริษัทมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่สูงมากขนาดนั้น และยังมีบทวิเคราะห์ออกมาเขียนแนะนำให้ซื้อหุ้น จึงไม่น่าแปลกใจ ที่นักลงทุนรายย่อยจะเข้าซื้อหุ้น จนทำให้ราคาหุ้นของ IEP ปรับตัวสูงขึ้นไป เกินมูลค่าที่แท้จริง
แล้วทำไม IEP ถึงสามารถจ่ายปันผลได้สูงขนาดนั้น ?
คำตอบคือ การที่บริษัทจ่ายปันผลให้คาร์ล ไอคาห์น และลูกชายของเขา ที่ถือหุ้นรวมกันมากกว่า 85% เป็นหุ้น ก็ได้ทำให้บริษัทมีเงินสดเหลือจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนรายอื่น ในอัตราที่สูง
อย่างไรก็ตาม หากเราเจาะลึกลงไปในกิจการของบริษัทก็จะพบว่า บริษัทมีปัญหาสภาพคล่องให้กังวลอยู่ไม่น้อย
เพราะถ้าเรามาดูผลตอบแทนจากการลงทุนของ IEP ก็จะพบว่า ติดลบมากถึง 53% นับตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งสวนทางกับราคาหุ้นของ IEP ที่สร้างผลตอบแทนทบต้นให้กับผู้ถือหุ้น คิดเป็น 15% ต่อปี มาตลอด 21 ปี
ผลการขาดทุนจากการลงทุนของบริษัท และอัตราการจ่ายเงินปันผลในระดับสูงแบบไม่สอดคล้องกับผลการดำเนินงานของบริษัทตลอดหลายปีที่ผ่านมานี้เอง
ก็ได้ทำให้กระแสเงินสดอิสระของบริษัทติดลบไป รวมกันกว่า 168,000 ล้านบาท นับตั้งแต่ปี 2014
พูดง่าย ๆ ก็คือ บริษัทมีค่าใช้จ่ายเป็นเงินสด มากกว่าที่บริษัทหามาได้
เมื่อ IEP ใช้เงินสดจนเกินตัว บริษัทจึงเริ่มคิดหาวิธีการหาเงินสด เพื่อนำเงินมาจ่ายเงินปันผล ด้วยการออกหุ้นเพิ่มทุนมาขายให้กับนักลงทุนรายใหม่ รวมกันเป็นมูลค่ากว่า 58,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2019
หรือก็คือ IEP กำลังหาเงินจากนักลงทุนรายใหม่ เอามาจ่ายเป็นผลตอบแทนให้นักลงทุนรายเก่า นั่นเอง
นอกจากปัญหากระแสเงินสดที่มีไม่เพียงพอ จนต้องออกหุ้นใหม่ และมีผลขาดทุนจากการลงทุนแล้ว IEP ยังมีหนี้สินอยู่อีกประมาณ 182,000 ล้านบาท
โดยบริษัทมีหนี้ที่ครบกำหนดชำระบางส่วนภายใน 3 ปี ดังนี้
ปี 2024 มีหนี้ต้องชำระ 37,000 ล้านบาท
ปี 2025 มีหนี้ต้องชำระ 47,000 ล้านบาท
ปี 2026 มีหนี้ต้องชำระ 46,000 ล้านบาท
และด้วยสัญญาเงินกู้ที่เข้มงวด ก็ทำให้ตอนนี้ IEP ไม่สามารถกู้ยืมเงินเพิ่มได้แล้ว ทำได้เพียงแค่ Refinance หรือกู้ยืมเงิน เพื่อนำมาชำระหนี้เก่าเท่านั้น
และยิ่งตอนนี้ดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามอัตราเงินเฟ้อ ทำให้ในอนาคต IEP ก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น หากตัดสินใจ Refinance เงินกู้
แล้วคาร์ล ไอคาห์น สามารถใช้เงินส่วนตัวมาชำระหนี้แทนบริษัทได้ไหม ?
ก็ต้องตอบว่า เป็นไปได้ยากมาก เพราะทรัพย์สิน 85% ของคาร์ล ไอคาห์น อยู่ในบริษัท IEP อยู่แล้ว
และที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ คาร์ล ไอคาห์น นำหุ้นของ IEP เกือบ 60% ของเขาไปค้ำประกันเงินกู้ส่วนตัวด้วย ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้หุ้น IEP ปรับตัวลดลงมาต่ำกว่าจุดที่กำหนดไว้
คาร์ล ไอคาห์น จะต้องถูกบังคับขายหุ้นออกมา ซึ่งนั่นจะทำให้ราคาหุ้น IEP ยิ่งตกลงหนักมากขึ้นไปอีก
จากสภาพคล่องที่ตึงตัว ก็น่าจะทำให้ในอนาคต IEP จะต้องปรับลดเงินปันผลตอบแทนผู้ถือหุ้น หรืออาจจะไม่จ่ายปันผลเลย จนกว่าบริษัทจะกลับมาสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนให้ได้
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ Hindenburg ได้ออกมากล่าวหา คาร์ล ไอคาห์น ว่ากำลังสร้างแชร์ลูกโซ่อยู่นี้ อัยการประจำรัฐนิวยอร์ก ก็ได้เข้ามาสืบสวนเรื่องดังกล่าวแล้ว
ซึ่งก็ส่งผลให้ราคาหุ้นของ IEP ปรับตัวลดลงมากว่า 45% นับตั้งแต่ต้นเดือนนี้ก่อนที่ คาร์ล ไอคาห์น จะถูกกล่าวหา
ในขณะที่ตัวของคาร์ล ไอคาห์น เอง ก็สูญเสียความมั่งคั่งไป 346,585 ล้านบาท ภายในวันเดียว หลังจากที่เรื่องนี้เกิดขึ้น
โดยปัจจุบัน คาร์ล ไอคาห์น หลงเหลือความมั่งคั่งอยู่ประมาณ 345,941 ล้านบาท หรือลดลงกว่าครึ่งหนึ่งภายหลังจากที่ถูกกล่าวหา
ทั้งนี้ ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า สถานการณ์ของ IEP จะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งถ้าหากสิ่งที่ Hindenburg Research คาดการณ์เอาไว้เป็นความจริง
นี่ก็จะเป็นกรณีศึกษา ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ครั้งใหญ่อีกครั้งของตลาดการเงินสหรัฐอเมริกา ที่อาจจะซ้ำรอยกับกรณีของเบอร์นาร์ด แมดอฟฟ์ อดีตประธานตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก ที่หลอกให้นักลงทุนรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกาหลายรายมาลงทุนในแชร์ลูกโซ่ของตัวเอง ก็เป็นได้..
© 2023 BillionMoney. All rights reserved.