ทำไม เกษตรกรรมไทย ทำมาก แต่ได้น้อย

ทำไม เกษตรกรรมไทย ทำมาก แต่ได้น้อย

25 พ.ค. 2023
ทำไม เกษตรกรรมไทย ทำมาก แต่ได้น้อย - BillionMoney
ปัจจุบัน จำนวนผู้มีงานทำทั้งหมดของประเทศไทย มีอยู่ราว 40 ล้านคน โดยเป็นแรงงานภาคเกษตรกรรมถึง 12 ล้านคน หรือคิดเป็น 30% ของผู้มีงานทำทั้งหมด
แต่ที่น่าตกใจก็คือ ในปี 2021 มูลค่าของภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนเพียง 9% ของมูลค่า GDP ของประเทศเท่านั้น
หรืออาจพูดได้ว่า ภาคเกษตรกรรมของไทยนั้น มีจำนวนแรงงานเยอะ แต่กลับสร้างมูลค่า GDP ได้น้อย
แล้วเรื่องนี้เป็นเพราะอะไร ?
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ
ปัญหาของเกษตรกรรมไทย เกิดมาจากหลายปัจจัยที่เกี่ยวโยงกัน เริ่มตั้งแต่
-เน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ขาดการกระจายความเสี่ยง
การปลูกพืชเชิงเดี่ยว หมายถึง การปลูกพืชชนิดเดียวกันเป็นบริเวณกว้าง อย่างกรณีของข้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่ปลูกกันมากที่สุดในประเทศ
โดยกว่า 74% ของจำนวนครัวเรือนภาคการเกษตรทั้งหมดในประเทศนั้น ปลูกข้าวและใช้พื้นที่เพาะปลูกมากถึง 45% ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด
ซึ่งการปลูกพืชเชิงเดี่ยวนั้น เป็นการพึ่งพาผลผลิตจากพืชเพียงชนิดเดียว
ทำให้เมื่อมีความเสี่ยงเข้ามา เช่น โรคระบาด, ความผันผวนของราคา และปริมาณความต้องการในตลาด
ก็จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตและรายได้ทั้งหมด
-เกษตรกรไทยจำนวนมากมีหนี้สิน ทำให้สะสมทุนลำบาก
การปลูกพืชเชิงเดี่ยว, ผลิตภาพต่อไร่ที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นแซงหน้าราคาขาย
ทำให้เกษตรกรไทยหลายครัวเรือนมีรายได้ไม่เพียงพอ
จนต้องก่อหนี้ เกิดปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว
โดยกรณีที่เลวร้ายคือ ต้องขายที่ดินทำมาหากิน
ส่งผลให้ขาดโอกาสในการสะสมทุน เพื่อไปลงทุนต่อยอด หรือพัฒนาเทคโนโลยีในการทำการเกษตร
ซึ่งนำไปสู่ปัจจัยต่อมา นั่นก็คือ
-การขาดแคลนเทคโนโลยี ทำให้ผลิตภาพของเกษตรกรไทยอยู่ในระดับต่ำ
รู้ไหมว่า ในปี 2534 ผลิตภาพของเกษตรกรไทยต่อคนต่อปีอยู่ที่ 37,000 บาท ซึ่งเคยมีผลิตภาพสูงกว่าจีน 1.6 เท่า
แต่มาในปี 2562 แม้ว่าผลิตภาพของเกษตรกรไทย จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 104,000 บาทต่อคนต่อปี
แต่กลับกลายเป็นว่า มีผลิตภาพต่ำกว่าจีน 1.6 เท่า เนื่องจากการเกษตรของจีนก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก
สาเหตุสำคัญคือ เกษตรกรไทยขาดเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อมาเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น หรือลดต้นทุนการผลิตลง
ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีที่เรียกว่า การปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ หรือ “Laser Land Leveling”
ซึ่งเทคโนโลยีที่ว่านี้ จะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ในการเตรียมดิน และปรับระดับหน้าดินนาได้อย่างแม่นยำ มีความราบเรียบ ทำให้การจัดการน้ำในแปลงนามีประสิทธิภาพ มีต้นทุนต่อไร่ลดลง
แม้ว่าปมปัญหาที่กล่าวมา จะไม่สามารถแก้ได้ในระยะเวลาอันสั้น
แต่หากได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐ ทั้งด้านเงินทุน, เทคโนโลยี, การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์,
มีการให้ความรู้แก่เกษตรกร และส่งเสริมการทำเกษตรอย่างเป็นระบบ
ก็น่าจะทำให้ภาคการเกษตรของไทย สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและภูมิประเทศ ที่ไม่แพ้ประเทศไหน
แปรเปลี่ยนเป็นผลผลิต ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และเติบโตอย่างยั่งยืน มากกว่าที่เป็นอยู่..
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.