ทำไม เราไม่สามารถ ทลายทุนผูกขาด ได้ 100%

ทำไม เราไม่สามารถ ทลายทุนผูกขาด ได้ 100%

20 มิ.ย. 2023
ทำไม เราไม่สามารถ ทลายทุนผูกขาด ได้ 100% - BillionMoney
หนึ่งในนโยบายที่น่าสนใจของพรรคก้าวไกล ที่เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย ก็คือ “การทลายทุนผูกขาด”
ว่ากันว่า นโยบายนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้ราคาหุ้นของหลายบริษัทของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นไทย ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง
แต่ในความเป็นจริงแล้ว การทลายทุนผูกขาด อาจไม่ได้ทำกันได้ง่าย ๆ อย่างที่หลายคนคิด หากเราไม่ศึกษาสาเหตุของการผูกขาดให้ดีเสียก่อน
และถ้าคุณอยากรู้เรื่องการผูกขาดให้ละเอียดมากขึ้น
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจแบบง่าย ๆ
การผูกขาดในทางธุรกิจ คือ การมีธุรกิจเพียงรายเดียวที่สามารถครอบครองส่วนแบ่งการตลาดมากพอ จนมีอำนาจในการตั้งราคาสินค้าหรือบริการเองได้
ซึ่งการผูกขาดนั้น ทำให้การแข่งขันทางการค้าไม่เป็นไปอย่างเสรี และไม่เป็นธรรม จนเกิดเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำตามมาในที่สุด
สาเหตุของการผูกขาดแบ่งได้ 3 สาเหตุหลัก ๆ คือ
1.ผูกขาดเพราะธุรกิจแข็งแกร่ง มีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเหนือคู่แข่ง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ส่วนแบ่งการตลาดของธุรกิจแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ ที่บริษัท Meta บริษัทแม่ของ Facebook และ Instagram มีส่วนแบ่งการตลาดรวมทั่วโลกสูงถึง 77%
ซึ่งกว่าจะมีส่วนแบ่งการตลาดใหญ่แบบนี้ ก็ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา จนสามารถฆ่าคู่แข่งรายอื่น ๆ ให้หายไปจากตลาดได้
ซึ่งตามโลกทุนนิยมแล้ว ธุรกิจที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันสูง เกิดจากความสามารถของบริษัทจริง ๆ
รัฐบาลจึงไม่สามารถจัดการอะไรได้มากนัก
2.ผูกขาดตามธรรมชาติของตลาด
การผูกขาดตามธรรมชาติ มักจะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เงินลงทุนในการทำธุรกิจสูง จนต้องมีปริมาณการผลิตสินค้าที่มากพอให้ถึงจุดคุ้มทุน
เช่น ผู้ผลิตเครื่องบินโดยสารที่มีเพียง 2 ผู้ผลิตหลัก ๆ คือ Boeing และ Airbus เนื่องจากว่า การผลิตเครื่องบินโดยสาร จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก หากไม่สามารถผลิตเป็นจำนวนมาก ๆ ได้ ก็จะขาดทุน
หรือตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุด ก็น่าจะเป็นธุรกิจสนามบินในไทย ที่ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง และทำเลที่จะสร้างสนามบิน ก็ต้องเป็นเมืองสำคัญ ๆ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต หรือกรุงเทพฯ ทำให้ AOT กลายเป็นผู้ผูกขาดธุรกิจสนามบินโดยธรรมชาติของไทย
ดังนั้นแล้ว ต่อให้รัฐบาลไทยจะเปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรีของธุรกิจสนามบิน ก็อาจจะไม่มีธุรกิจไหนมาทำสนามบินแข่งกับ AOT ได้แล้ว
3.การผูกขาดที่รัฐเป็นผู้กำหนดให้ผูกขาด
เช่น การซื้อขายไฟฟ้าในไทย ที่ปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าแต่เพียงผู้เดียว แล้วค่อยมากระจายต่อให้ผู้บริโภค
หรือการกำหนดให้ เฉพาะผู้ผลิตสุรารายใหญ่เท่านั้น ถึงจะสามารถผลิตสุราได้ ในกรณีนี้ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันอย่างเสรี ทำให้มีธุรกิจเพียงไม่กี่รายอยู่ในตลาด
ในกรณีนี้เราสามารถป้องกันไม่ให้มีการผูกขาดได้ โดยการแก้ไข และบังคับใช้กฎหมาย เพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขันอย่างเสรี และเป็นธรรมมากขึ้น
นอกจากประเด็นเรื่องการผูกขาด จากสาเหตุทั้ง 3 แล้ว ธุรกิจสัมปทาน บางครั้งก็ใช้สัญญาที่ทำกับรัฐบาล เป็นเครื่องมือในการผูกขาดธุรกิจของตัวเอง และป้องกันไม่ให้คู่แข่งรายอื่นเข้ามาแข่งขันได้ง่าย ๆ
เช่น ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ เมื่อทำสัญญาขายไฟฟ้าให้รัฐบาลแล้ว การไปแก้ไขหรือยกเลิกสัญญาในภายหลังก็อาจทำได้ยาก เพราะเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องได้
กล่าวโดยสรุปก็คือ หากเป็นการผูกขาดโดยความสามารถทางการแข่งขัน หรือเป็นการผูกขาดโดยธรรมชาติของอุตสาหกรรมแล้ว การป้องกันการผูกขาดน่าจะเป็นไปไม่ได้
แต่หากเป็นการผูกขาดที่เกิดจากการสร้างกฎระเบียบบางอย่างที่ไม่เป็นธรรมตั้งแต่ต้น การแก้ไขก็สามารถทำได้ หากรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาการผูกขาด จนสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ในที่สุด..
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.